อาการปวดไหล่ ที่พบบ่อยเกิดจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจาก
– พยาธิสภาพที่ข้อไหล่เอง
– พยาธิสภาพของกระดูกต้นคอ
– พยาธิสภาพกระดูกคอส่วนต่อกับกระดูกสันหลังอก
– กล้ามเนื้อพังผืดรอบข้อไหล่และสะบักอักเสบ
– นอกจากนี้ ยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่พบน้อยกว่า เช่น ข้อไหล่เสื่อม การติดเชื้อ หรือ เนื้องอก หรือมะเร็งบริเวณข้อไหล่ รวมถึงพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ และปอด ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ได้
ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะสาเหตุที่พบบ่อย 3 อันดับแรก ได้แก่
- พยาธิสภาพของข้อไหล่โดยตรง: ได้แก่
เอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด เอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่พบการอักเสบได้บ่อย พบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยอายุน้อย ส่วนใหญ่เกิดตามหลังอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ หรือจากการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มาก ๆ ในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลให้เกิดการเสียดสีของเอ็นรอบข้อไหล่ เป็นการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ และสุดท้ายอาจส่งผลให้เอ็นไหล่ฉีกขาด (บางส่วนหรือทั้งหมด) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดไหล่มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็ขยับข้อไหล่ได้น้อยลงเรื่อย ๆ (เช่น ไม่สามารถถอดเสื้อยืดออกทางศีรษะได้)
ข้อไหล่อักเสบ เป็นการอักเสบของโครงสร้างที่ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่ ส่งผลให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อรอบเบ้าข้อไหล่ อาจเกิดตามหลังการบาดเจ็บของข้อไหล่มาก่อน ทั้งจากการบาดเจ็บ เล่นกีฬา หรือบาดเจ็บจากการทำงานที่ต้องใช้ข้อไหล่
ข้อต่อปุ่มหัวไหล่และกระดูกไหปลาร้าอักเสบ พบตามหลังการบาดเจ็บของข้อต่อปุ่มหัวไหล่และกระดูกไหปลาร้า หรือพบในผู้สูงอายุ อาจพบร่วมกับพยาธิสภาพเอ็นรอบข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด
- พยาธิสภาพของกระดูกต้นคอ: ได้แก่
กระดูกต้นคอเสื่อม ส่งผลให้เกิดอาการปวดส่งต่อมายังบริเวณข้อไหล่ หรือเกิดจากการที่รากประสาทไขสันหลังถูกกดเบียดจากภาวะกระดูกต้นคอเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดร้าวตามรากประสาทลงมายังบริเวณไหล่ ส่วนใหญ่พบหลังอายุ 40 ปี ขึ้นไป
พยาธิสภาพอื่น ๆ ของกระดูกต้นคอ พยาธิสภาพอื่น ๆ ของกระดูกต้นคอหรือรากประสาทและไขสันหลัง เช่น การติดเชื้อหรือเนื้องอก อาจทำให้เกิดอาการปวดส่งต่อ หรืออาการปวดร้าวตามรากประสาทมาที่บริเวณไหล่ได้
- กล้ามเนื้อพังผืดรอบข้อไหล่อักเสบ: ได้แก่
พบบ่อยในเพศหญิง อายุ 30 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณสะบักด้านหลัง อาจมีอาการข้างเดียวหรือ 2 ข้าง อาจมีประวัติแบกของหรือสะพายเป้หนักๆมาก่อน หรือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะโน้ตบุ๊ก)นานๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดสะบักข้างที่มีอาการ คลำพบกล้ามเนื้อแข็งตึง และมีจุดกดเจ็บที่ชัดเจนบริเวณสะบัก ถ้ากดจุดกดเจ็บแรงๆ จะมีอาการปวดร้าวไปที่ต้นคอด้านหลังหรือศีรษะ